· 

คำสอนของพ่อ

'คิดถึงพ่อ' ผ่านคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ ๙ 

พระองค์ทรงมุ่งเน้นเรื่องการ “พัฒนาคน” มีพระราชดำรัสว่า “ต้องระเบิดจากข้างใน” ซึ่งนับเป็นแนวทางสำคัญยิ่งในการดำเนินการพัฒนาของภาครัฐ ซึ่งหมายความว่า ต้องมุ่งพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้คน ให้ครอบครัวในชุมชนที่จะพัฒนาให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน มิใช่นำเอาความเจริญจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชน เพราะหลายชุมชนยังไม่ทันได้มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัว จึงไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลง และอาจนำไปสู่ความล่มสลายได้


พระบรมราโชวาท พระราชดำรัสแห่งพระองค์ท่าน นับเป็น “คำสอนอันเป็นมงคลยิ่งแห่งไทย”

ตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ขึ้นครองราชย์ จากอดีตจวบจนถึงปัจจุบันพระองค์ท่านทรงมีพระบรมราโชวาท และพระราชดำรัสกับปวงชนชาวไทยนานัปการ เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยประพฤติตนเป็นคนดี ช่วยทำนุบำรุงประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า พระราชดำรัสของพระองค์ท่านเป็นทั้งคำสอน คติเตือนใจในการใช้ชีวิต และช่วยให้เรายั้งใจที่จะกระทำความผิดได้ เราขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะน้อมนำหลักคำสอนของพ่อหลวงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ร้อยเรียงคำสอนของพ่อสู่ดวงใจกับคำสอนที่จะทำให้เราคิดถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ มากขึ้น 

การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญของมนุษย์
“...การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญยิ่งของมนุษย์ คนเราเมื่อเกิดมาก็ได้รับการสั่งสอนจากบิดามารดา อันเป็นความรู้เบื้องต้น เมื่อเจริญเติบโตขึ้นก็เป็นหน้าที่ของครูและอาจารย์สั่งสอนให้ได้รับวิชาความรู้สูง และอบรมจิตใจให้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม เพื่อจะได้เป็นพลเมืองดีของชาติสืบต่อไป...”
(เป็นความสำคัญจากพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม 2505)


ความรู้ในวิชาการสามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้
“...ความรู้ในวิชาการ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ และทำให้เป็นคนที่มีเกียรติ เป็นคนที่สามารถ เป็นคนที่มีความพอใจได้ในตัวว่า ทำประโยชน์แก่ตนเองและแก่ส่วนรวม นอกจากวิชาความรู้ ก็จะต้องฝึกฝนในสิ่งที่ตัวต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับสังคม สอดคล้องกับสมัย และสอดคล้องกับศีลธรรมที่ดีงาม ถ้าได้ทั้งวิชาการ ทั้งความรู้รอบตัว และความรู้ในชีวิต ก็จะทำให้เป็นคนที่ครบคน ที่จะภูมิใจได้...”
(เป็นความสำคัญจากพระบรมราโชวาทที่ได้พระราชทานเนื่องในโอกาสวันปิดภาคเรียนของโรงเรียนจิตรลดา วันที่ 25 มีนาคม 2515)

คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษาและน้อมนำมาปฏิบัติ
"...ประการแรก คือ การรักษาความสัตย์ ความจริงใจต่อตัวเอง ที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัตย์ความดีนั้น
ประการที่สาม คือ การอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัตย์สุจริต ไม่ว่าด้วยประการใด
ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักเสียสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน
เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง.."

(พระราชดำรัสพระราชทานในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า : ๕ เมษายน ๒๕๒๕ )

จิตใจที่มั่นคงในความสุจริต
“...การทำงานสร้างเกียรติยศชื่อเสียง และความเจริญก้าวหน้า นอกจากจะต้องใช้วิชาความรู้ที่ดีแล้ว แต่ละคนยังต้องมีจิตใจที่มั่นคงในความสุจริต และมุ่งมั่นต่อความสำเร็จเป็นรากฐานรองรับ จึงจะบันดาลผลเลิศให้เกิดขึ้นสมบูรณ์ เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง...”
(เป็นความสำคัญจากพระบรมราโชวาทที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานเนื่องในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2526)

เพราะคุณธรรมในจิตใจของคนไทยคือ
 การให้
“...คุณธรรมข้อหนึ่งที่ยังมีอยู่อย่างบริบูรณ์ในจิตใจของคนไทยก็คือ การให้ การให้นี้ ไม่ว่าจะให้สิ่งใด แก่ผู้ใด โดยสถานใดก็ตาม เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญระหว่างบุคคลกับบุคคล และให้สังคมมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นด้วยสามัคคีธรรม”
(เป็นความสำคัญจากพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2545)

คนไม่สุจริตไม่มีวันสร้างประโยชน์ที่สำคัญได้

“...คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ...”
(พระบรมราโชวาท
 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๒)

การใช้ความรู้คู่คุณธรรม

 "...
เยาวชนทั้งหลายที่อยู่ในวัยเรียน ย่อมมีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาวิชาการต่างๆ ให้ได้มากๆ เพื่อนำไปใช้ทำประโยชน์ สร้างสมความสุขความเจริญให้แก่ตัวเองตลอดจนส่วนรวม แต่การใช้วิชาความรู้นั้นจำเป็นจะต้องใช้อย่างถูกต้อง ด้วยคุณธรรมและความสามารถที่เหมาะจึงจะได้ผลเต็มเปี่ยม..."
(
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีปฏิญาณตนและสวนสนาม เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ณ สนามศุภชลาศัย วันที่ 1 กรกฎาคม 2522)

ความซื่อสัตย์

"...ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดีทุกอย่าง เด็กๆ จึงต้องฝึกฝนอบรมให้เกิดมีขึ้นในตนเอง เพื่อจักได้เติบโตขึ้นเป็นคนดีมีประโยชน์ และมีชีวิตที่สะอาด ที่เจริญมั่นคง..."

(พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็ก ปี พุทธศักราช ๒๕๓๑)


พูดจริง ทำจริง

“...ผู้หนักแน่นในสัจจะ พูดอย่างไรทำอย่างนั้น จึงจะได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธา เชื่อถือ และความยกย่องสรรเสริญจากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือพูดจริงทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด...”

(พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๐)


การพอเพียงมิใช่การเบียดเบียนผู้อื่น

“...พอเพียงนี้ อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง...”
(เป็นความสำคัญจากพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541)

 

ไม่โลภมาก ก็อยู่เป็นสุข

“...คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข...”
(เป็นความสำคัญจากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคล ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541)

ประหยัด อดออม
“...การใช้จ่ายโดยประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้ จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ประหยัดเท่านั้น ยังจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย...”
(เป็นความสำคัญจากพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2502)


การกู้ทำรายได้

“...การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ได้ อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ...”
(เป็นความสำคัญจากพระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540)

เพราะการทำดีนั้นยากกว่าทำชั่วมากนัก

“...การทำดีนั้นทำยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่วซึ่งทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว แต่ละคนจึงต้องตั้งใจและเพียรพยายามให้สุดกำลัง ในการสร้างเสริมและสะสมความดี...”
(พระบรมราโชวาทพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
 แก่ผู้สำเร็จการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สวนอัมพร ๑๔ สิงหาคม ๒๕๒๕)

สามัคคีมิใช่การเห็นด้วยเหมือนกันหมด
“...สามัคคี หรือการปรองดองกัน ไม่ได้หมายความว่า คนหนึ่งพูดอย่างหนึ่ง คนอื่นต้องพูดเหมือนกันหมด ลงท้ายชีวิตก็ไม่มีความหมาย ต้องมีความแตกต่างกัน แต่ต้องทำงานให้สอดคล้องกัน แม้จะขัดกันบ้าง ก็ต้องสอดคล้องกัน...”
(พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖

การทำดีไม่เบียดเบียนผู้อื่นสร้างความเจริญทั้งวัตถุทั้งจิตใจ
"...ถ้าเราคิดดี ทำดี ไม่ใช่แต่ปากนะ ทำอย่างดีจริงๆ คือ สร้างสมสิ่งที่ดีด้วยการปฏิบัติในสิ่งที่เรียกว่าดี หมายความว่า
 ไม่เบียดเบียนผู้อื่น สร้างสรรค์ทำให้มีความเจริญทั้งวัตถุทั้งจิตใจ แล้วไม่ต้องกลัว..."

(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา : ๔ ธันวาคม ๒๕๑๗)

หลักของคุณธรรม คือ การคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลาง
"...หลักของคุณธรรม คือ การคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ก่อนจะพูดจะทําสิ่งไร จําเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อน เพื่อรวบรวมสติให้ตั้งมั่น และจิตสว่างแจ่มใส ซึ่งเมื่อฝึกหัดคุ้นเคยชํานาญแล้ว จะกระทําได้คล่องแคล่ว ช่วยให้สามารถแสดงความรู้ความคิดในเรื่องต่างๆ ให้ผู้ฟังได้เข้าใจได้ง่าย ได้ชัด ไม่ผิด ทั้งหลักวิชา ทั้งหลักคุณธรรม..."

(พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10 กรกฎาคม 2535)


ความเพียร
"...การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียว ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความเพียร

ต้องใช้ความอดทน เสียสละ แต่ที่สำคัญที่สุดคือความอดทน คือไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งดีงาม สิ่งที่ดีงามนั้นมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดัง คือดูมันครึ ทำดีนี่ แต่ขอรับรองว่าการทำให้ดี ไม่ครึ ต้องมีความอดทน เวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอน..."

(พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครูและอาจารย์ : ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๖)

ส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง
"...ในบ้านเมืองนี้มีทั้งคนดีและคนไม่ดีไม่มีใครที่จะทําให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทําให้ บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทําให้ทุกคนเป็นคนดีหากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอํานาจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้..."

(พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรในพิธีเปิดงานชุมชนลูกเสือแห่งชาติค่ายลูกเสือวชิราวุธจังหวัดชลบุรี 11 ธันวาคม 2512) 


ปิดทองหลังพระ
"...การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนักเพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้..."

 

(พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 25 กรกฎาคม 2506)

คนเราอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ

“...ในวงสังคมนั้นเล่า ท่านจะต้องรักษามารยาทอันดีงามสำหรับสุภาพชน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่แข็งกระด้าง มีความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ พร้อมจะเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม...”
( พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
25 มิถุนายน 2496) 

คนเราจะต้องรับและจะต้องให้
"...คนเราจะเอาแต่ได้ไม่ได้ คนเราจะต้องรับและจะต้องให้ เมื่อรับสิ่งของได้มากก็จะต้องพยายามให้
ในการให้นั้น ให้ได้โดยพยายามที่จะสร้างความสามัคคีในหมู่คณะและในชาติ..."

(พระราชดำรัสพระราชทานในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี)


กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน
“...
การทำงานใด ๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ควรอย่างยิ่งที่จะตั้งเป้าหมาย ขอบเขต และหลักการไว้ให้แน่นอน เพราะจะช่วยให้สามารถปฏิบัติมุ่งเข้าสู่ผลสำเร็จได้โดยตรงและถูกต้องพอเหมาะพอดี เป็นการป้องกันและขจัดความล่าช้า ความสิ้นเปลือง ความเสียเปล่า ทุกอย่างได้อย่างสิ้นเชิง...’’
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 17 กรกฎาคม 2530)

คิดให้รอบคอบและรอบด้าน

“...
เมื่อจะเริ่มงานสิ่งใด ให้พยายามคิด พิจารณาให้เห็นจุดหมาย เห็นสาระ และประโยชน์ที่แท้จริงของงานนั้นอย่างแจ่มแจ้ง แล้วจึงลงมือทำด้วยความตั้งใจ มั่นใจ ด้วยความรับผิดชอบอย่างสูง ให้ดำเนินลุล่วงตลอดไปอย่างต่อเนื่อง โดยมิให้บกพร่องเสียหาย...’’
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 5 กรกฎาคม 2533)

ยอมรับและเรียนรู้ที่จะปรับปรุงตนอย่างไม่ย่อท้อ
“...
การดำรงชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความอดทนเป็นที่ตั้ง ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทน ก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้ว ไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ ๆ...”
(พระราชดำรัส พระราชทานแก่ครูและนักเรียน โรงเรียนจิตรลดา วันที่ 27 มีนาคม 2523)

เปิดรับทุกโอกาสและลงมือปฏิบัติ
“...
เมื่อมีโอกาสและมีงานทำ ควรเต็มใจทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้ หรือเงื่อนไขอันใดไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริง ๆ นั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน และความซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น...”
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วันที่ 8 กรกฎาคม 2530)

การเอาชนะใจตน

“...การรู้จักประมาณตน ได้แก่ การรู้จักและยอมรับว่าตนเองมีภูมิปัญญาและความสามารถด้านไหน เพียงใด และควรจะทำงานด้านไหน อย่างไร การรู้จักประมาณตนนี้ จะทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ได้ถูกต้องเหมาะสมกับงาน และได้ประโยชน์สูงสุดเต็มตามประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองให้ยิ่งสูงขึ้น...”

(พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๑)


เตรียมพร้อมตั้งรับกับทุกปัญหา
“…
วิถีชีวิตมนุษย์นั้น จะให้มีแต่ความปรกติสุขอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีทุกข์ มีภัย มีอุปสรรค ผ่านเข้ามาด้วยเสมอ ยากจะหลีกเลี่ยงพ้น ข้อสำคัญอยู่ที่ทุก ๆ คนจะต้องเตรียมกาย เตรียมใจ และเตรียมการไว้ให้พร้อมทุกเวลา เพื่อเผชิญและแก้ไขความไม่ปรกติเดือดร้อน (ทั้ง) นั้นด้วยความไม่ประมาท ด้วยเหตุผล ด้วยหลักวิชา และด้วยสามัคคีธรรม จึงจะผ่อนหนักให้เป็นเบาและกลับร้ายให้กลายเป็นดีได้…”
(พระราชดำรัส พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2528 วันจันทร์ ที่ 31 ธันวาคม 2527)

เรียนรู้จากการสังเกต ดู และฟัง
"...
การศึกษามิได้มาจากการฟังโอวาท หรือแม้จะฟังบรรยายสั่งสอนของครูบาอาจารย์ การศึกษานั้นมาจากการสังเกต การดู การฟังของแต่ละคน หมายความว่าดูแล้วฟัง แล้วมาพิจารณาให้เป็นประโยชน์แก่ตน ก็นับว่าเป็นการศึกษาแล้ว และเป็นการศึกษาที่ดีที่สุด...”
(
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิต มศว วิทยาเขตสงขลา วันที่ 25 กันยายน 2521)

รู้จักประมาณตน อย่าฝืนจนล้ม

“...
การรู้จักประมาณตน ได้แก่ การรู้จักและยอมรับว่าตนเองมีภูมิปัญญาและความสามารถด้านไหน เพียงใด และควรจะทำงานด้านไหน อย่างไร การรู้จักประมาณตนนี้ จะทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ได้ถูกต้อง เหมาะสมกับงาน และได้ประโยชน์สูงสุดเต็มตามประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้ และเพิ่มพูนประสบการณ์อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองให้ยิ่งสูงขึ้น...”
(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 18 กรกฎาคม 2541)

ความรู้ทำให้เป็นคนครบคน
“...
ความรู้ในวิชาการเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ และทำให้เป็นคนที่มีเกียรติ เป็นคนที่สามารถ เป็นคนที่จะมีความพอใจได้ในตัวว่า ทำประโยชน์แก่ตนเองและแก่ส่วนรวม นอกจากวิชาความรู้ ก็จะต้องฝึกฝนในสิ่งที่ตัวจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับสังคม สอดคล้องกับสมัยและสอดคล้องกับศีลธรรมที่ดีงาม ถ้าได้ทั้งวิชาการ ทั้งความรู้รอบตัว และความรู้ในชีวิต ก็จะทำให้เป็นคนที่ครบคน ที่จะภูมิใจได้...”
(
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเนื่องในโอกาสวันปิดภาคเรียนของโรงเรียนจิตรลดา วันที่ 25 มีนาคม 2515)

อย่าหยุดหาความรู้
“...
ความรู้ในวิชาการ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ และทำให้เป็นคนที่มีเกียรติ เป็นคนที่สามารถ เป็นคนที่จะมีความพอใจได้ในตัวว่า ทำประโยชน์แก่ตนเองและแก่ส่วนรวม นอกจากวิชาความรู้ ก็จะต้องฝึกฝนในสิ่งที่ตัวจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับสังคม สอดคล้องกับสมัย และสอดคล้องกับศีลธรรมที่ดีงาม ถ้าได้ทั้งวิชาการ ทั้งความรู้รอบตัว และความรู้ในชีวิต ก็จะทำให้เป็นคนที่ครบคน ที่จะภูมิใจได้...”

หนังสือเป็นออมสิน

“...
หนังสือเป็นเสมือนคลังที่รวบรวมเรื่องราว ความรู้ ความคิด วิทยาการทุกด้านทุกอย่าง ซึ่งมนุษย์ได้เรียนรู้ ได้คิดอ่าน และเพียรพยายามบันทึกภาษาไว้ด้วยลายลักษณ์อักษร หนังสือแพร่ไปถึงที่ใด ความรู้ความคิดก็แพร่ไปถึงที่นั่น หนังสือจึงเป็นสิ่งมีค่า และมีประโยชน์ที่จะประมาณมิได้ในแง่ที่เป็นบ่อเกิดการเรียนรู้ของมนุษย์...”
(
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีเปิดงานปีหนังสือแห่งชาติ 4 กุมภาพันธ์ 2515)

ความคิดเป็นแม่บทใหญ่ของการพูดและการกระทำ
"...ความคิดนั้นเป็นแม่บทใหญ่ของการพูดและการกระทำ เพราะกิจที่จะทำคำที่จะพูดทุกอย่างล้วนสำเร็จมาจากความคิด การคิดก่อนพูดและก่อนทำจึงช่วยให้บุคคลสามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่สมควร หยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง..."

(พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10 กรกฎาคม 2540)


อุปสรรคทำให้ใจแข็งแกร่ง

“...
ถ้าถูกแดดถูกฝน อนามัยแข็งแรงก็ไม่เป็นอะไร ทำให้แข็งแกร่งจิตใจก็เหมือนกัน เมื่อประสบอุปสรรคและสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา เราก็ขุ่นหมอง แต่ถ้าจิตใจเราแข็งแรง แข็งแกร่งดี อุปสรรคนั้นสามารถที่จะทำให้มีอำนาจจิตดีขึ้น มีกำลังใจมากขึ้น สิ่งที่เป็นอุปสรรค สิ่งที่ทำให้เราขุ่นเคืองใจ ไม่เป็นผลร้ายต่อตัวเรา กลับทำให้ใจเราแข็งแกร่งแข็งแรง...”
(
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยม มธ. และทรงดนตรีเป็นการส่วนพระองค์ ณ หอประชุม มธ. วันที่ 7 มีนาคม 2513)


คนเราต้องเตรียมตัว
"...คนเราต้องเตรียมตัว เพื่อที่จะเผชิญปัญหาต่างๆ ในชีวิต แต่การเตรียมตัวนั้น ก็ต้องมีความรู้ประกอบด้วย มีการฝึกนิสัยใจคอของตนให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ด้วย สิ่งที่สำคัญในการฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิตคือ ต้องรู้จัก ตัวเอง รู้ว่าตัวกำลังทำอะไร รู้ว่าตัวต้องการอะไร..."
(กระแสพระบรมราโชวาทพระราชทานแก่ นักศึกษาวิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ เชียงใหม่ 
๓ มกราคม ๒๕๑๖)

คนเราต้องมีความสบายใจ
"...ความสบายใจของคนเป็นของที่หายาก คนเราต้องมีความสบายใจ จึงจะมีชีวิตที่ราบรื่นได้..."

(พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงาน '๕ ธันวา วันมหาราช’ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ๕ เมษายน ๒๕๒๑)


เมื่อมีโอกาสทำงาน

"...เมื่อมีโอกาสและมีงานทำ ควรเต็มใจ ทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้ หรือเงื่อนไขอันใด ไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆ นั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน และความซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น..."

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๐)

ต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา
"...การดำรงชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความอดทน เป็นที่ตั้งถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทน ก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้ว ไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ๆ..."

(พระบรมราโชวาท พระราชทาน แก่คณะครูและนักเรียนโรงเรียนจิตรลดา ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๓)

ต้องช่วยกันทำ
"...ต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำเฉพาะหน้าที่นั้น เพราะว่าถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัว โดยไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกัน จะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นแต่ละคน จะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่น แล้วช่วยกันทำ..." 
(พระราชดำรัส พระราชทานแก่ คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา๔ ธันวาคม ๒๕๓๓)

ต้องตั้งเป้าหมาย
"...
การทำงานใดๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ควรอย่างยิ่งที่จะตั้งเป้าหมาย ขอบเขต และหลักการไว้ให้แน่นอน เพราะจะช่วยให้สามารถ ปฏิบัติมุ่งเข้าสู่ผลสำเร็จได้โดยตรง และถูกต้องพอเหมาะพอดี เป็นการป้องกัน และขจัดความล่าช้า ความสิ้นเปลือง ความเสียเปล่า ทุกอย่างได้อย่างสิ้นเชิง..."

(พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๓๐)

การคิดก่อนพูด
"...หลักของคุณธรรม คือ การคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ก่อนจะพูดจะทําสิ่งไร จําเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อน เพื่อรวบรวมสติให้ตั้งมั่น และจิตสว่างแจ่มใส ซึ่งเมื่อฝึกหัดคุ้นเคยชํานาญแล้ว จะกระทําได้คล่องแคล่ว ช่วยให้สามารถแสดงความรู้ความคิดในเรื่องต่างๆ ให้ผู้ฟังได้เข้าใจได้ง่าย ได้ชัด ไม่ผิด ทั้งหลักวิชา ทั้งหลักคุณธรรม..."
(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๕)

ความเจริญในการทำงาน
"...ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพชอบเป็นหลักสําคัญ ผู้ที่จะสามารถประพฤติชอบ และหาเลี้ยงชีพชอบได้ด้วยนั้น ย่อมจะมีทั้งวิชาความรู้ ทั้งหลักธรรมทางศาสนา เพราะสิ่งแรกเป็นปัจจัยสําคัญสําหรับใช้กระทําการทํางาน สิ่งหลัง เป็นปัจจัยสําคัญสําหรับส่งเสริมความประพฤติและการปฏิบัติงานให้ชอบ คือ ให้ถูกต้องและเป็นธรรม..."

(พระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ครูโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนา อิสลาม ๔ จังหวัดภาคใต้จังหวัดปัตตานี๒๔ สิงหาคม ๒๕๑๙)

ความสามัคคี

"...สามัคคีนี้ก็คือ การเห็นแก่บ้านเมือง และช่วยกันทุกวิถีทาง เพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองให้เข้มแข็ง ด้วยการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และทํางานด้วยการซื่อสัตย์สุจริต ต้องส่งเสริมงานของกันและกัน และไม่ทําลายงานของกันและกัน มีเรื่องอะไรให้ได้พูดปรองดองกัน อย่าเรื่องใครเรื่องมัน และงานก็ทํางานอย่างตรงไปตรงมา นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม..."

(พระราชดํารัสที่พระราชทานในพิธีประดับยศนายตํารวจชั้นนายพล ๑๕ มกราคม ๒๕๑๙)


ต้องสร้างพื้นฐาน
"...การจะพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างให้เจริญนั้นจะต้องสร้างและเสริมขึ้นจากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนทั้งสิ้น 
ถ้าพื้นฐานไม่ดีหรือคลอนแคลนบกพร่องแล้ว ที่จะเพิ่มเติมเสริมต่อให้เจริญขึ้นไปอีกนั้น ยากนักที่จะทำได้ 
จึงควรจะเข้าใจให้แจ้งชัดว่า นอกจากจะมุ่งสร้างความเจริญแล้ว ยังต้องพยายามรักษาพื้นฐานให้มั่นคง ไม่บกพร่อง พร้อมๆ กันได้.."

(พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๓)

ความจริงใจทำการใดก็สำเร็จ
"...ความจริงใจต่อผู้อื่นเป็นคุณธรรมสำคัญมากสำหรับผู้ที่ต้องการความสำเร็จและความเจริญ 
เพราะช่วยให้สามารถขจัดปัดเป่าปัญหาได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาอันเกิดจากความกินแหนงแคลงใจ
และเอารัดเอาเปรียบกัน นอกจากนั้น ยังทำให้ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ และความร่วมมือสนับสนุนจากทุกคนทุกฝ่าย 
ที่ถือมั่นในเหตุผลและความดี ผู้มีความจริงใจจะทำการสิ่งใดก็มักสำเร็จได้โดยราบรื่น..."

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๕ 

ต้องศรัทธาในงาน
"...งานทุกอย่างมีบุคคลซึ่งมีชีวิตจิตใจ มีความนึกคิดเป็นผู้กระทำ ถ้าผู้ทำมีจิตใจไม่พร้อมจะทำงาน เช่น ไม่ศรัทธาในงาน ไม่สนใจผูกพันกับงาน 
ผลงานที่ทำก็ย่อมบกพร่อง ไม่คงที่ ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติมีศรัทธา เข้าใจซึ้งถึงประโยชน์ของงาน พร้อมใจและพอใจที่จะขวนขวายปฏิบัติงานโดยเต็มกำลังความสามารถ งานจึงจะดำเนินไปได้โดยราบรื่น และบรรลุผลตามที่มุ่งหมาย..."

(พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๖)

คิดก่อนพูดและทำ
"...ความคิดนั้นเป็นแม่บทใหญ่ของการพูดและการกระทำ เพราะกิจที่จะทำคำที่จะพูดทุกอย่างล้วนสำเร็จมาจากความคิด 
การคิดก่อนพูดและก่อนทำจึงช่วยให้บุคคลสามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่สมควร หยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง..."

(พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๐)

พูดอย่างไร ทำอย่างนั้น
"...ผู้หนักแน่นในสัจจะ พูดอย่างไรทำอย่างนั้น จึงจะได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธา เชื่อถือ 
และความยกย่องสรรเสริญจากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือ พูดจริงทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญ 
ในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด..."

(พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๐)

CONTACT US: 
Ratchadaniwet Prasha Uthid Road, Samsennok Huikwang Bangkok 10310

PHONE: (66) 2-2743193 Ext 113 , (66) 080-378-5026

EMAIL: info@educationservices.in.th 
 educationservices.in.th@gmail.com
LINE ID: @EDUCATIONSERVICES

(สามารถกคลิ็กที่ลิงค์ไลน์ด้านล่างนี้ได้เลย)

CUSTOMER SERVICES
Return Policy
Pricing Charge
Sizing Charge